สรรพคุณและประโยชน์ของ “ใบบัวบก” สมุนไพรฤทธิ์เย็น สมานแผล ช่วยลดความดัน ขับพิษร้อน ลดอาการอ่อนเพลีย

หากกล่าวถึงสมุนไพรที่แก้อาการช้ำใน ใครๆต่างก็คิดถึงสมุนไพรที่ชื่อว่า ใบบัวบกอย่างแน่นอน  ใบบัวบกเป็นไม้ล้มลุก เลื้อยไปตามพื้นดิน ขึ้นง่าย รากออกตามข้อชูใบ ตั้งตรงขึ้นมา ใบ เป็นใบเดี่ยว มีก้านยาว ลักษณะรูปไต รอยเว้าลึกที่ฐานใบ ขอบมีรอยหยัก เป็นรูปสามเหลี่ยม ดอกเป็นดอกช่อคล้ายร่ม มี 2-3 ข้อ ช่อละ 3-4 ดอก มีกลีบดอก 5 กลีบ สีม่วงอมแดง เรียงสลับกับเกสรตัวผู้ ผลเล็ก สีดำ แช่น้ำไม่ตาย ทนน้ำขังได้ดี

*สรรพคุณ

ใบบัวบกเป็นพืชที่มีสรรพคุณมากมาย สามารถรับประทานได้ทั้งต้น ลำต้นและใบสามารถรับประทานแบบสดได้แก้โรคกระเพาะอาหาร แก้ปวดท้อง ท้องอืด สำหรับใบนำมาต้มแก้อาการช้ำใน ลดไข้ ลดอาการอักเสบ แก้ร้อนใน แก้ไอ เจ็บคอ แก้กระหายน้ำ ช่วยลดอาการอ่อนเพลียไม่มีแรง แก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะได้ดี ช่วยลดความดันโลหิตสูง มีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยต้านการเสื่อมของเซลล์ต่างๆในร่างกาย บำรุงประสาทและสมอง ช่วยให้ความจำดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ  ช่วยสมานแผลเร่งการสร้างเนื้อเยื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น

**วิธีการนำมาใช้  

การนำมารับประทาน : ให้นำ ใบบัวบกสด 1 กำมือ คั้นให้ได้น้ำ หรือตำให้ละเอียดแล้วผสมกับน้ำ 1 แก้ว คนให้เข้ากันแล้วกรองให้เหลือแต่น้ำ ผสมน้ำตาล  หรือเกลือก็ได้ตามชอบ ดื่มครั้งละ 1 แก้ว ก่อนอาหารทั้ง 3 มื้อ นานประมาณ 5-7 วัน ส่วนเรื่องการสมานแผลนั้นในปัจจุบันมีครีมที่สกัดจากใบบัวบกที่นำมาทาบริเวณรอยแผลเป็นวันละ 1-3 ครั้งจะช่วยผสานแผลให้หายเร็วขึ้นได้

การนำมาทำยาสมานแผล : นำใบบัวบกมาตำให้ละเอียดแล้วนำมาพอกบริเวณที่มีอาการฟกช้ำ หรือบริเวณที่มีอาการอักเสบของแผลเช่นแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก

**ข้อควรระวังในการนำมารับประทาน

  • บัวบกเป็นยาที่มีฤทธิ์เย็น ถ้าทานมาก ไปจะทำให้สะสมในร่างกายจนรู้สึกหนาวมากขึ้น หลีกเลี่ยงการทานใบบัวบกติดต่อกันทุกวัน เมื่อทานติดต่อกัน 1 สัปดาห์แล้ว ควรหยุดพัก 1 สัปดาห์ แล้วค่อยกลับมารับประทานใหม่
  • สำหรับผู้ที่รับประทานใบบัวบกสดๆ ติดต่อกันทุกวัน ควรรับประทานประมาณวันละ 3-6 ใบ ไม่ควรเกินไปกว่านี้
  • หากมีอาการอ่อนเพลีย เวียนหัว ใจสั่น หรือหัวใจเต้นผิดปกติ รู้สึกคันตามผิวหนัง ท้องร่วง ภายหลังจากการรับประทาน ควรหยุดรับประทานและรีบไปพบแพทย์ทันที
  • ในกลุ่มคนที่ต้องรับประทานยาแก้แพ้ ยานอนหลับ หรือยากันชัก ไม่ควรรับประทานใบบัวบก เนื่องจากจะยิ่งไปเพิ่มฤทธิ์ให้รู้สึกง่วงซึมมากขึ้น
  • การนำมาใช้ภายนอกบางคนอาจมีอาการแพ้ มีอาการแสบร้อนที่ผิวหนัง
  • อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นหากรับประทานบัวบกในปริมาณที่มากเกินไป หรือมีอาการแพ้ ได้แก่ ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้เวียนศีรษะและอาการง่วงนอนอย่างรุนแรง

ขอบคุณข้อมูล

https://sites.google.com/site/bibawbk123/gallery

https://www.honestdocs.co/asiatic-pennywort-drink-helps-bruising