แนะนำวิธีปลูกเพกาต้นเตี้ย ให้ติดฝักดก 300 ฝักต่อต้นต่อปี เก็บขายมีรายได้ตลอดปี

ถ้าพูดถึงพืชผักสมุนไพรที่นับว่าเป็นยาคู่ครัวไทยมาเนิ่นนาน หนึ่งในนั้นต้องมีเพกา ลิ้นไม้ หรือลิ้นฟ้า รวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน เพกานับเป็นพืชผักสุมนไพรที่มีอยู่ตามธรรมชาติทุกภาคของเมืองไทย เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในเขตอากาศร้อน เพกาเป็นพืชที่ทนและเจริญเติบเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่แห้งแล้ง และอากาศร้อนแบบบ้านเรา เพกาพันธุ์พื้นเมืองเดิมส่วนใหญ่ต้นจะมีความสูงมาก บางต้นสูงเกือบๆ 10-15 เมตร การเก็บฝักสดมาบริโภคค่อนข้างที่จะลำบาก แถมกิ่งและลำต้นเนื้อค่อนข้างเปราะหักง่าย จึงไม่ได้รับความนิยมมากนักในอดีต

แต่ในปัจจุปัน มีเพกาที่ขนาดความสูงของลำต้นไม่สูงเหมือนแต่ก่อน ซึ่งเรียกว่า “เพกาเตี้ย” เพกาเตี้ยเป็นเพกาที่กลายพันธุ์มาจากการปลูกเพกาต้นสูงแบบเพาะเมล็ด ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ในทางที่ดี คือมีความสูงของต้น ที่เตี้ย ติดฝักดก หมุนเวียนตลอดปี มีชื่อเรียกสายพันธุ์อยู่ 2 ชื่อ เพชรโนนผึ้ง และเบาดอ แต่คุณสมบัติของ 2 สายพันธุ์ไม่มีอะไรที่แตกต่างกัน ทั้งรสชาดที่ขมน้อยและคุณสมบัติทางกายภาพ

ฝักเพกาต้นเตี้ย แต่ก่อนนิยมรับประทานเฉพาะในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศโดยส่วนใหญ่ แต่ปัจจุปันฝักสดเพกาเป็นที่นิยมกันแพร่หลายทั่วทุกภาคของประเทศไทย และกำลังได้รับความนิยมจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาวและกัมพูชา เป็นต้น

เทคนิคการปลูกเพกาต้นเตี้ยให้ติดฝักดก

1.) ต้องใช้ต้นพันธุ์ที่เป็นเพกาต้นเตี้ยสายพันธุ์แท้เท่านั้น ขยายพันธุ์มาจากต้นแม่พันธุ์ที่ดี มีคุณภาพ เช่น ต้นเตี้ย ติดฝักดกหมุนเวียนตลอดปี

2.) การเลือกพื้นที่ๆ จะปลูกสภาพดินและคุณลักษณะของหน้าดินต้องไม่แน่นมากจนเกินไป เพราะจะทำให้เพกาเตี้ยเจริญเติบโตได้ไม่ดี

3.) ใช้ระยะปลูก4×4 เมตร ขุดหลุมลึก 50×50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก 1 ปี๊บต่อหลุมต่อต้น โดยคลุกเคล้ากับดิน+ผสมด้วยเศษฟางหรือเศษใบไม้ด้วยก็ได้ ถ้ามีใบฉำฉาจะดีทำให้ต้นเพกาโตเร็วขึ้น

4.) นำต้นพันธุ์เพกาเตี้ยที่ผ่านการอนุบาลอายุ 2 เดือนเป็นอย่างน้อย ลงหลุมปลูก

5.) ในช่วง 2-3 วันแรกที่ปลูกเพกาเตี้ย ให้รดน้ำให้ชุ่มทุกวัน เพื่อป้องกันต้นพันธุ์เพกาเตี้ยน็อคอากาศ หลังจากนั้นการรดน้ำก็ให้ดูตามสภาพดิน หากดินมีความชื้นอยู่ก็ไม่จำเป็นต้องรดน้ำ เพราะเพกาเตี้ยไม่ชอบน้ำแฉะชื้น และท่วมขัง

6.) เพกาเตี้ยมีอายุช่วง 0-15 วัน พยายามให้ ปุ๋ยอินทรีย์ อย่างเดียว และรดน้ำตามทุกครั้งที่มีการให้ปุ๋ย

7.) เพกาเตี้ยอายุ 15 วันขึ้นไป ก็เริ่มให้ปุ๋ยเคมีเสริมบ้าง ตามสภาพของต้นเพกาเตี้ย ให้ใส่ทีนะน้อย ห่าง จากโคนต้นประมาณ 1 คืบ โดยเน้นปุ๋ยสูตรบำรุงลำต้นและใบ หรือจะเป็นสูตรเสมอก็ได้ เช่น 15-15-15 หรือ 16-16-16 โดยให้ปุ๋ยเคมีทุกๆ 1 เดือน

8.) เพกาเตี้ยอายุประมาณ 4-5 เดือน เราก็ต้องเริ่มตัดแต่งยอดเพกาเตี้ย เพื่อให้เพกาเตี้ยติดฝักดก

9.) ช่วงประมาณ 6 เดือนขึ้นไปเพกาเตี้ยก็จะเริ่มติดดอก ในช่วงที่เพกาเตี้ยติดดอก ให้เสริมปุ๋ยเคมีสูตรบำรุง ดอก และผล เช่น 8-24-24 ปริมาณการใส่ประมาณ 2-3 กำมือ ต่อต้น ทุกๆ 15 วัน

10.) ในช่วงที่เพกาติดดอก ให้โรยปุ๋ยรอบๆ ทรงพุ่มใบของเพกาเตี้ย พร้อมทั้งปุ๋ยอินทรีย์ควบคู่กันไป และรดน้ำตามทุกครั้งที่มีการให้ปุ๋ยเพกาเตี้ย พอเพกาเตี้ยเริ่มติดฝักแล้วก็หยุดให้ปุ๋ยเคมีได้

ข้อสังเกต

ถ้าปลูกแบบต้นที่เพาะจากกิ่งชำ ประมาณ 4-5 เดือน จะเริ่มออกดอก แต่ถ้าปลูกแบบต้นที่เพาะด้วยเมล็ด ใช้เวลาประมาณ 1 ปี จะเริ่มออกดอก หลังจากที่เพกาออกดอกประมาณ 20-30 วัน จะเริ่มติดฝัก ระยะเวลา 1 ปี สามารถเก็บฝักได้ประมาณ 2-3 รุ่น แล้วแต่ความสมบูรณ์ของต้น

ต้นเพกาช่วงปีแรกที่ออกดอกจะไม่ค่อยติดฝักดก ซึ่งเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว แต่จะติดฝักดกมากในช่วงปีที่ 2 เป็นต้นไป ต้นเพกาเตี้ยที่ได้รับการดูแลให้ปุ๋ยให้น้ำที่เพียงพอจะติดฝักดกประมาณ 100 ฝักต่อรุ่น หรือประมาณ 300 ฝักต่อปี ทำให้เกษตรกรสามารถเก็บขายสร้างรายได้ตลอดทั้งปี

เมื่ออายุต้นเพกาประมาณ 4 ปีขึ้นไปต้นจะสูงเกิน 3 เมตร ควรทำการตัดแต่งทำสาวให้ต้นเพกา

หลังจากตักแต่งแล้วรดน้ำให้ปุ๋ย เพกาจะผลิยอดกิ่งงอกออกมาใหม่ ก็จะได้เพกาต้นเตี้ยเหมือนเดิมอีกครับ

ประโยชน์และสรรพคุณของเพกา

1.ใช้เป็นอาหาร

-ยอดอ่อนและฝักอ่อน มีรสขม นิยมเผาหรือลวกสุก จะทำให้มีความขมลดลง เผาแล้วขูดเอาผิวออกให้หมด กินกับน้ำพริกหรือลาบ

-เมล็ดเพกา เป็นส่วนประกอบในน้ำจับเลี้ยงที่คนจีนนิยมดื่มกัน

-ข้อควรระวัง ถ้ากินมากอาจทำให้เป็นต้อเนื้อที่ดวงตาได้ หญิงมีครรภ์ควรรับประทานแต่น้อย เพราะมีฤทธิ์ร้อนใน

2.สรรพคุณ

ผลเพกามีวิตามินเอสูง ช่วยบำรุงสายตา เหมาะกับคนที่ขาดวิตามินเอ และมีเส้นใยอาหารมาก ช่วยให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ ทั้งเส้นใยยังช่วยลดการดูดซึมไขมันและน้ำตาลเข้าสู่กระแสโลหิตด้วย

เมล็ดใช้เป็นยาระบาย แก้ไอ ขับเสมหะ โดยต้มเมล็ดเพกาหนึ่งกำมือกับน้ำ 300 ซีซี จนเดือดให้เนื้อยาออกมา จากนั้นนำไปดื่มวันละ 3 ครั้ง ต่อเนื่องประมาณ 5-7 วัน

ฝักอ่อน ช่วยขับลมในท้อง ขับเสมหะ บำรุงร่างกาย

เปลือก และ ต้น แก้ท้องร่วง ร้อนใน สมานแwลลดการอักเสบ ลดอากาแพ้ บำรุงโลหิต ขับเสมหะด้วย และยังเป็นส่วนผสมของยาสมุนไพรแก้เบาหวาน แก้ริดสีดวงทวาร

เคล็ดลับที่หลายคนไม่รู้คือ

ต้นเพกาชอบใบฉำฉาหรือจามจุรี ควรนำใบแห้งมาโรยไว้โคนต้นประจำ จะทำให้ใบเขียวติดฝักดก

ขอบคุณข้อมูลจาก สวนเพกาเตี้ยบ้านผักกาดหญ้า อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์,คุณสุรพล คูณผล สวนเพกาพันธุ์เพชรโนนผึ้ง อุบลราชธานี