ต่อให้รักษาศีลถึง 100 ปี ก็ไม่สู้การทำสิ่งนี้เพียงชั่วครู่..!?

“บุญเราไม่เคยสร้าง ใครที่ไหนจะมาช่วยเจ้า ลูกเอ๋ย ก่อนที่จะเข้าไปขอบารมีหลวงพ่อองค์ใด เจ้าจะต้องมีทุนของตัวเอง คือบารมีของตนลงทุนไปก่อนเมื่อบารมีของเจ้าไม่พอจึงค่อยขอยืมบารมีคนอื่นมาช่วย มิฉะนั้นเจ้าจะเอาตัวไม่รอด เพราะหนี้สินในบุญบารมีที่ไปเที่ยวขอยืมมาจนพ้นตัว…”

การเจริญภาวนานั้น เป็นการสร้างบุญสะสมไว้ ถือได้ว่าได้บุญบารมีมากที่สุด และยิ่งใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นแก่นแท้และได้บุญสูงกว่าฝ่ายศีลมากนัก เพราะว่าการเจริญภาวนาเป็นการเน้นระงับการทำความชั่วทาง “ใจ” คือเป็นการซักฟอกจิตให้สะอาดบริสุทธิ์

เพราะเหตุใดจึงกล่าวว่าการสร้างบุญด้วยการภาวนานั้นจะได้บุญอย่างสูงสุด?

ก็เพราะว่าอำนาจแห่งกฎแห่งกรรมข้อที่เรียกว่า “มโนกรรม” นั้นมีผลรุนแรงที่สุด ทุกๆ อย่างที่เรากระทำลงไปล้วนออกมาจาก “ใจ” ก่อนเป็นอันดับแรก ดังที่มีคำกล่าวว่า “ใจเป็นนาย..กายเป็นบ่าว” ใจเป็นประธานแต่ทว่าใจนั้นก็เป็นไปได้ตามพลังทั้งทางดีและทางที่ไม่ดี

พระพุทธองค์ตรัสถึงมรรค 8 ข้อที่สำคัญที่สุดก็คือ “สัมมาทิฐิ” เป็นทางแห่งทางพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง คือเห็นว่าผลทุกอย่างในโลกเกิดแต่เหตุ ถ้าไม่ก่อเหตุก็ไม่เกิดผล ถ้าเราสามารถจะดับที่ต้นเหตุได้ก็จะดับผลได้เช่นกัน

เมื่อเรามีความเห็นชอบอย่างถูกต้องเที่ยงตรงแล้วเรื่องของการคิดหรือ “ดำริชอบ” จะมาเองเมื่อมีความคิดชอบแล้วก็จะส่งผลไปยังมรรคผลข้ออื่นๆ ให้ดีตาม

อำนาจแห่ง “จิต” หรือ “มโนกรรม” นั้นมีตัวอย่างที่น่าสนใจในสมัยพุทธกาลจะเล่าให้ฟังอีกสักเรื่อง..

…ในสมัยพุทธกาลมีพระภิกษุรูปหนึ่ง เมื่อท่านมรณภาพลงแล้วก็จะมีพระอีกรูปหนึ่งนำจีวรไปใช้ แต่พระพุทธเจ้าทรงห้ามเอาไว้เสียก่อนและรับสั่งว่า

“พระภิกษุผู้เป็นเจ้าของจีวรนั้น ได้กลับมาเกิดมาเป็นเล็นเกาะอยู่ที่จีวรที่ท่านได้ซักตากเอาไว้ เพราะจิตของท่านเมื่อกำลังจะมรณภาพลง (อาสันนกรรม) ผูกพันอยู่กับจีวรผืนนี้ที่เพิ่งจะได้มาและท่านชอบมาก หากพระภิกษุรูปใดได้นำจีวรนี้ไปใช้เล็นตัวนั้นก็จะโกรธเพราะท่านยังหวงอยู่ ส่งผลให้เกิดบาปกรรมทางใจขึ้นอีก และท่านก็ไม่อาจจะไปเสวยผลแห่งกรรมดีที่ได้ทำไว้ได้”

เพียงจิตที่ขุ่นเคืองแม้เพียงเล็กน้อยเช่นนี้ ยังมีอานุภาพเช่นนี้ พระพุทธองค์จึงสั่งสอนอยู่เสมอว่า “ให้ทำความดี ละเว้นความชั่ว และ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากเย็นที่สุดในหลักธรรมคำสอนทั้งปวง

นี่เองคือเหตุผลที่ว่าเหตุใด “การเจริญภาวนา” ซักฟอกจิตให้สะอาดเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ก็เพราะใจมีอำนาจแรงเหนือทุกสิ่งนี่เองสัตว์ทั้งปวงจะไปสู่ภพใดก็เป็นเพราะจิตก่อนตายเป็นสุขหรือทุกข์ “การเจริญภาวนา” นั้นเป็นหนทางไปสู่มรรคผลและนิพพานได้เพราะการที่จิตสะอาดจนหมดกิเลส หมดความต้องการทั้งหลายแล้วย่อมไม่เหลืออะไรติดเกาะในจิต จิตก็ว่างเปล่าไม่อาจกลับไปเกิดใหม่ได้อีก หลุดพ้นไปโดยปริยาย หากลำพังเพียงแค่การทำทานหรือรักษาศีลนั้นยังไม่มีบุญบารมีที่มากพอที่จะกำจัดกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง

พระพุทธองค์กล่าวเอาไว้ว่า

“แม้จะรักษาศีล 227 ข้อให้ไม่ด่างพร้อยถึง 100 ปีก็สู้การทำสมาธิภาวนาเพียงแค่ชั่วไก่กระพือปีกหรือช้างกระดิกหูไม่ได้”

การเจริญภาวนานั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. การทำสมาธิด้วยสมถะภาวนา

การทำสมาธิแบบสมถะภาวนาคือ การกำหนดใจให้นิ่งกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่เป็นอารมณ์เดียว ไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ตามขอให้เพียงแต่ใจอยู่นิ่งไม่วอกแวกก็คือเป็นสมาธิ ถ้าเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดและคนไทยเราคุ้นเคยที่สุดก็คือ “การไหว้พระสวดมนต์” การกำหนดจิตด้วยการสวดมนต์นี้จะทำให้จิตนิ่งอยู่ที่บทสวดก็เรียกได้ว่าเป็นการทำสมาธิระดับต้นขั้นที่หนึ่ง (ขณิกสมาธิ)

วิธีการทำสมาธิอย่างง่ายๆ ทำอย่างไร?

เริ่มต้นด้วยการนั่งขัดสมาธิตัวตรงแบบไม่ตรงเกร็งร่างกาย เอาขาขวาทับขาซ้าย ถ้าหากไม่ถนัดก็สามารถนั่งเก้าอี้ในอิริยาบถสบายๆ ก็ได้เอามือขวามาทับมือซ้ายหลับตาเบาๆ โดยไม่ต้องบีบเปลือกตาหรืออย่ากดเน้นลูกนัยน์ตาเพราะจะทำให้ไม่สะดวกในการทำสมาธิ

จากนั้นกำหนดลมหายใจให้อยู่ที่ท้องภาวนาตามไปในใจขณะที่ท้องพองออกก็คือการหายใจเข้า ก็บริกรรมคำภาวนาว่า “พองหนอ” เมื่อหายใจออกท้องยุบก็บริกรรมภาวนาว่า “ยุบหนอ” ค่อยๆ ภาวนาไปเรื่อยๆ จนเมื่อจิตนิ่งไม่ได้คิดอะไรแล้วจึงค่อยหยุดบริกรรมแล้วนั่งต่อไปเรื่อยๆ แต่ถ้าจิตมันเริ่มคิดซัดส่ายออกไปถึงเรื่องอื่นๆ ก็ให้รีบกลับมาบริกรรมคำภาวนานี้ใหม่จนกว่าจิตจะนิ่งเช่นเดิม

แต่การเจริญสมาธิแบบสมถะภาวนาด้วยคำบริกรรมนี้เป็นเพียง “คำบริกรรมแบบหนึ่งเท่านั้น”  หากใครสะดวกจะใช้คำอื่น อย่างคำว่า พุทธ-โธ หรือ กำหนดลมหายใจด้วยคำบริกรรมอื่นๆ ก็ไม่ผิดแต่อย่างใด การนั่งสมาธิด้วยการภาวนาอยู่เช่นนี้จิตก็จะนิ่งอยู่ที่ลมหายใจ ก็ถือว่าเป็นสมาธิซึ่งเป็นพื้นฐานของการชำระจิตให้สะอาดที่อยู่ในกมลสันดานของแต่ละคน เมื่อจิตอยู่นิ่งแล้วก็เกิดความง่ายที่จะทำให้สะอาดเพราะรู้ว่าจิตอยู่ตรงไหนจากนั้นจึงค่อยใช้ “การเจริญปัญญา” เป็นการซักฟอกให้สะอาดหมดจดในชั้นต่อไป

2. การเจริญปัญญา

การเจริญปัญญานั้นต่างไปจากความเป็นสมาธิ ตรงที่สมาธิเป็นเพียงการทำใจให้สงบนิ่งอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแต่เพียงอารมณ์เดียวแน่นิ่งอยู่อย่างนั้นโดยไม่ได้นึกคิดอะไร แต่การเจริญปัญญา (คำพระท่านว่า วิปัสสนา) ไม่ใช่ทำให้แค่จิตใจตั้งมั่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น

การเจริญปัญญานั้นเป็นการคิด “ใคร่ครวญ” เพื่อหาเหตุผลในสภาวะที่เป็นธรรมและความจริงในแต่ละสรรพสิ่งว่า สิ่งทั้งหลายในโลกนี้เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป (อนิจจัง) ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทุกข์ (ทุกขัง) คือทุกอย่างเป็นสภาพที่ไม่อาจทนอยู่ในสภาพเดิมได้ เกิดขึ้นแล้วไม่อาจทรงตัวต้องเปลี่ยนแปลงไป ทำให้อารมณ์เกิดความเปลี่ยนแปลงไปตามวัตถุซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์ตามมา และ สุดท้ายคือ ทุกสิ่งไม่มีตัวตนและไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนหรือเป็นของๆ ใครใดๆ ทั้งสิ้น (อนัตตา)

ยกตัวอย่างเช่นบทบริกรรมกรรมฐานที่ว่า เกสา (ผม) โลมา (ขน) นะขา (เล็บ) ทันตา (ฟัน) ตะโจ (หนัง) และ ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกสา ทวนกลับไปกลับมาอย่างนี้เป็นการทบทวนพิจารณาว่า ทั้งผม ขน เล็บ ฟัน และหนังของคนเรานั้นมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเกิดขึ้นแล้วก็ร่วงหล่นผุผังหรือเหี่ยวไปทั้งสิ้นไม่มีอะไรที่ยั่งยืนเลยแม้แต่น้อย จึงไม่ใช่สาระสำคัญที่เราควรจะไปยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งใดเพราะแม้แต่ร่างกายของตนเองยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอสิ่งอื่นๆ ในโลกนี้ก็เช่นเดียวกัน

เมื่อใดก็ตามที่เราพิจารณาสิ่งต่างๆ รอบตัวให้เป็นไปตามที่กล่าวมานี้ได้ ก็ถือได้ว่าได้ทำการชำระจิตให้หมดจดจนบริสุทธิ์ที่แท้ เพราะจิตใจสามารถยอมรับสภาพความจริงทั้งหลาย และความเป็นไปทั้งหลายของโลกได้อย่างแท้จริง

ผลแห่งการฝึกเจริญสมาธิและปัญญานี้จะทำให้เกิดผลบุญขึ้นกับตัวคือ ทำให้จิตมีความสามารถมากขึ้นในการคิด มีความเฉลียวฉลาดสติปัญญาเฉียบแหลมขึ้นและมีความทรงจำดีขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งมีข้อแม้ว่าจะต้องฝึกอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ เพราะใจที่เป็นสมาธิจิตจะผ่องใสสงบนิ่ง เหมือนน้ำสะอาดที่ตะกอนทั้งหลายตกอยู่ก้นทั้งหมดแล้วทำให้มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ

ผลของการเจริญสมาธิและปัญญาจะทำให้พบความสุขที่แท้จริงได้อย่างไร

ความสุขที่ได้จากการเจริญภาวนานั้นเป็นความสุขที่เรียกได้ว่า “ละเอียด” กว่าความสุขทางกายมากมายนัก และมีถึง 3 ขั้นคือมีความสุขในปัจจุบัน สุขในโลกหน้า และมีความสุขเป็นที่สุดคือ “นิพพาน”

1. ความสุขในปัจจุบัน

เมื่อฝึกทำสมาธิได้ในระดับเบื้องต้นเพียงแค่ปล่อยวางใจให้ผ่อนคลายกับเรื่องราวต่างๆ  ได้ก็เกิดผลบุญขึ้นคือ ใจเป็นสุขที่ได้ปล่อยวางได้พบกับความสุขใจขั้นพื้นฐานได้แก่ เมื่อหลับก็เป็นสุข ตื่นก็เป็นสุข จะนั่ง นอน ยืน หรือเดิน ไม่ว่าอิริยาบถไหนๆ ก็มีความสุขทั้งสิ้น สุขไม่ต้องเลือกเวลาและสถานที่เพราะว่าจิตใจของเรานิ่งเป็นสุขแล้ว (พระท่านว่า “นัตถิ สันติปะรัง สุขัง” สุขอื่นนอกจากหยุดนิ่งนั้นไม่มี)

2. ความสุขในโลกหน้า

ความสุขในระดับขั้นต่อไปคือ เมื่อได้ละจากโลกนี้ไปแล้วจะได้ไปเสวยสุขในภพภูมิที่เป็นสุขขึ้นไปในโลกหน้า เพราะการที่เราจะไปสู่ “สุคติ” หรือภพที่ดีนั้น ขึ้นอยู่กับความหมองหรือความใสของจิตเป็นหลักหากก่อนตายมีจิตใจที่ผ่องใสเป็นสุข ก็มีสุคติเป็นที่ไป หากก่อนตายจิตมีความขุ่นข้องเป็นทุกข์ก็มี ทุคติเป็นที่ไปตามหลักกรรมแห่งอาสันนกรรม

3. ความสุขอันเป็นนิพพาน

การเจริญภาวนานั้นเป็นเหตุให้หลุดพ้นจากกิเลส หากหมั่นเพียรฝึกฝนจนกระทำสำเร็จจนสิ้นกิเลสในภพชาติปัจจุบันก็จะทำให้จิตหลุดพ้นไม่ต้องกลับไปเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอีก อันหมายถึงพระนิพพาน ซึ่งความสุขแบบนี้มีแต่พระพุทธเจ้ากับเหล่าพระอรหันต์เท่านั้นที่สามารถไปถึงได้

หากเราต้องการที่จะไปถึงความสุขพ้นทุกข์ไปตลอดกาล ในภพชาติปัจจุบันก็ต้องพยายามฝึกฝนไปเรื่อยๆ หากไม่ถึงนิพพานในชาตินี้ชาติหน้าก็จะถึงได้แน่นอนต้องหมั่นสะสมบุญบารมีไปและต้องมีเคล็ดวิธีการฝึกสมาธิและการเจริญปัญญาที่ถูกต้องจากผู้ที่รู้จริงเท่านั้น

นอกจากความสุขในสูงสุดที่กล่าวมาแล้วยังมีประโยชน์อื่นๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายมากมาย เช่นทำให้สุขภาพดีโดยสมาธินั้นมีอำนาจในการระงับความเจ็บปวดจากโรคภัยต่างๆ ช่วยให้นอนหลับได้ง่าย ไม่ฝันร้าย มีความมั่นคงทางอารมณ์ มีกำลังใจและความเข้มแข็งที่จะเผชิญเอาชนะอุปสรรคทั้งปวง

การสร้างบุญด้วยวิธีการ 3 ขั้นคือ ทาน ศีล และภาวนานี้ขอให้ทำอย่างต่อเนื่องและทำเป็นลำดับไปครับอย่าได้ข้ามขั้นโดยเห็นว่าการเจริญภาวนาแล้วได้บุญมากสุดก็เลยนั่งภาวนามันอย่างเดียวอย่างนี้ไม่ได้ผลแน่นอนการจะภาวนาจะได้ผลก็ต่อเมื่อรักษาศีลคือกายและวาจาให้ดีแล้วจึงจะรักษาใจด้วยการภาวนาได้

และแน่นอนว่าเราจะยังรักษาศีลได้ไม่ดีพอหากยังไม่สามารถทำทานช่วยเหลือใครได้ เพราะคนที่มีจิตใจตระหนี่นั้นจิตมันจะไม่มีกำลังไปทำสิ่งที่ดีๆ อย่างการรักษาศีลแน่นอน

เราสามารถคิดตามได้ง่ายๆ ว่าถ้าวันนี้ไม่รักษาศีลนึกครึ้มไปกินเหล้ากับเพื่อนพอรู้สึกตัวว่าทำบาปขึ้นมาเสียแล้ว ก็คิดว่าไม่เป็นไร ไปนั่งภาวนาชั่วช้างกระดิกหูอย่างที่ว่ามาก็ได้บุญมหาศาลเพื่อลบล้างกันไปอย่างนี้ไม่ได้ผลบุญอะไรเกิดขึ้น เพราะการที่ไม่มีสติไม่มีความรู้ตัวอยู่ตลอดหากจะนั่งภาวนาก็คงได้แค่นั่งหลับเท่านั้นเอง

การให้ทานเพื่อมุ่งกำจัดกิเลสอย่างหยาบกองใหญ่คือความโลภและยังอานิสงส์ให้กายไม่ลำบากคือ มีทรัพย์ใช้สบายตัวที่สำคัญคือทำให้จิตมีกำลัง พอจิตมีกำลังมากขึ้น การรักษาศีลซึ่งเป็นการมุ่งกำจัดกิเลสกองใหญ่อย่างกลางคือ ความโกรธ ก็จะทำได้ง่าย เมื่อกายสบายและมีความสำรวมก็จะเป็นการง่ายต่อการทำสมาธิและการการเจริญภาวนา เพื่อมุ่งกำจัดกิเลสได้ออกทั้งหมดทั้ง โลภ โกรธและหลง พอหมดกิเลสแล้วก็ถึงมรรคผลนิพพานแน่นอน

การสร้างและสั่งสมบุญนั้นจึงเป็น “งานสำคัญของชีวิต” ควรที่เราจะต้องกระทำให้เป็นนิสัยจนกระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งไปเลยดังที่บรรพบุรุษของเราเคยกระทำมาโดยคนโบราณนั้นถึงกับมีคติในการสร้างบุญบารมีเอาไว้ว่า

“เช้าใดยังไม่ได้ให้ทานหรือทำทาน เช้านั้นก็อย่าเพิ่งกินข้าว”

“วันใดที่ยังไม่ได้สมาทานศีลเพื่อที่จะตั้งใจรักษาศีล วันนั้นก็อย่าเพิ่งออกจากบ้าน”

“คืนใดที่ยังไม่ได้สวดมนต์ นั่งเจริญสมาธิภาวนาคืนนั้นก็อย่าเพิ่งเข้านอน”

ลองถ้าเราตั้งเงื่อนไขการสร้างบุญซึ่งไม่ใช่เรื่องทำยากเลยไว้เช่นนี้เมื่อทำจนเป็นนิสัยมันก็จะติดตัวเราไปและยังประโยชน์ให้เกิดกับคนรอบข้างไปด้วยเพราะเขาจะพบเห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นแล้วก็จะเริ่มเกิดศรัทธาหันมาทำตามเป็นการพากันสร้างบุญกลุ่มให้ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก

เมื่อสร้างบุญมาดีแล้ว บุญนี้จะเก็บไว้กับตัวเสียก่อน เมื่อสร้างให้มากๆ ยิ่งดีเพราะเมื่อถึงเวลานำไปใช้แล้วจะได้มีใช้ไม่ขาดแคลน ดังคำสอนของสมเด็จของพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสีที่ท่านกล่าวเป็นอมตะวาจาว่า

“บุญเราไม่เคยสร้าง ใครที่ไหนจะมาช่วยเจ้า ลูกเอ๋ย ก่อนที่จะเข้าไปขอบารมีหลวงพ่อองค์ใด เจ้าจะต้องมีทุนของตัวเอง คือบารมีของตนลงทุนไปก่อนเมื่อบารมีของเจ้าไม่พอจึงค่อยขอยืมบารมีคนอื่นมาช่วย มิฉะนั้นเจ้าจะเอาตัวไม่รอด เพราะหนี้สินในบุญบารมีที่ไปเที่ยวขอยืมมาจนพ้นตัว

เมื่อทำบุญทำกุศลได้บารมีมา ก็ต้องเอาไปผ่อนใช้หนี้เขาจนหมดไม่มีอะไรเหลือติดตัวแล้วเจ้าจะมีอะไรไว้ในภพหน้า หมั่นสร้างบารมีไว้แล้วฟ้าดินจะช่วยเอง จงจำไว้นะเมื่อยังไม่ถึงเวลาเทพเจ้าองค์ใดจะคิดช่วยเจ้าไม่ได้ ครั้นเมื่อถึงเวลา ทั่วฟ้าจบดินก็ต้านเจ้าไม่อยู่ จงอย่าไปเร่งเทวดาฟ้าดิน เมื่อบุญเราไม่เคยสร้างไว้เลยจะมีใครที่ไหนมาช่วยเจ้า”

หมั่นสร้างบุญอย่างสม่ำเสมอให้มากพอและยาวนานพอส่วนจะนำบุญไปใช้ให้เกิดผลเร็วๆ อย่างไรนั้นจะกล่าวในบทของ เคล็ดของการนำบุญมาใช้ต่อไป

ขอบคุณที่มา ธ.ธรรมรักษ์

โปรดส่งต่อ เพื่อเป็นธรรมทาน