ชวนทำ “ขนมกรวย” สูตรโบราณ แป้งนุ่มหอม ละมุนลิ้น ราดหน้ากะทิ อร่อยกลมกล่อม ทำเองง่ายๆ ทำขายกำไรดี (ส่วนผสม)

วันนี้มีสูตรขนมไทยดั้งเดิมมาฝากค่ะ กับขนมกรวย ซึ่งเป็นขนมชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้งข้าวเจ้า กะทิ น้ำตาลปีบ เป็นอีกเมนูขนมไทยที่ทุกวันนี้เริ่มหาทานได้ยากแล้ว เราจึงนำสูตรขนมนี้มาแบ่งปันให้เพื่อนๆได้ลองทำกันดูค่ะ เรามาดูขั้นตอนกันเลย

*ส่วนผสม

ตัวขนมกรวย

1. แป้งข้าวเจ้า 3/4 ถ้วย

2. แป้งมัน 1/2 ช้อนโต๊ะ

3. แป้งข้าวโพด 1 ช้อนโต๊ะ

4. น้ำ + น้ำใบเตยหรือน้ำอัญชัน 1 3/4 ถ้วย

5. น้ำตาลทราย 3/4 ถ้วย

***การตวงทุกอย่าง ที่เป็น ถ้วย ใช้ถ้วยตวงเพียง 2 ขนาด คือ 1ถ้วย กับ 1/4 ถ้วย***

หน้าขนมกรวย

1. หัวกะทิ 3/4 ถ้วย

2. หางกะทิ 1 3/4 ถ้วย + 2 ช้อนโต๊ะ

3. แป้งเจ้า 1/2 ถ้วย

4. แป้งมัน 1 ช้อนชา

5. แป้งข้าวโพด 1 ช้อนชา

6.เกลือ 1 ช้อนชา

**ขั้นตอน

จะทำขนมชนิดนี้ สิ่งที่ต้องเตรียมก็คือกรวย แต่ก่อนจะเตรียมกรวย ก็ต้องเตรียมไม้กลัดก่อน เพราะการกลัดกรวยด้วยไม้กลัด จะสะดวกในการกิน มากกว่าเย็บกรวยด้วย เข็มเย็บกระดาษ อย่างไหนสะดวกกว่าก็ตามถนัด เพราะบางครั้งที่ทำจำนวนมากๆก็ใช้เข็มเย็บกระดาษ ไม้กลัดสำหรับกลัดกรวย จะใช้ไม้กลัดที่ใช้กลัดห่อขนมไม่ได้ เพราะขนาดใหญ่เกินไป ต้องนำไม้กลัดนั้นมาผ่า/ตัด ให้ได้ขนาดพอเหมาะกับกรวยที่จะทำ ไม้กลัดที่นำมาใช้ถ้าทำมาจากไม้ไผ่ จะผ่า/ตัดและเย็บได้ง่ายกว่าไม้กลัดที่ทำจากก้านมะพร้าว

1. ไม้กลัดขนาดปกติ ใช้กลัดห่อขนม ซึ่งห่อด้วยใบตอง

2. ผ่าไม้กลัดจาก 1 ซึ่งแต่ละอันจะผ่าได้ 2 , 3, หรือ 4 ขึ้นอยู่กับขนาดของแต่ละอัน

3. ตัดไม้กลัดจาก 2 ซึ่งแต่ละอันจะตัดได้ 2 หรือ 3 ซึ่งจะเหมาะกับการกลัดกรวย

จำนวนกรวยที่ต้องการใช้ประมาณ 60 กรวย ขนาดของกรวยที่ทำยาวประมาณนิ้วชี้ ปากกรวยกว้างประมาณหัวแม่โป้ง

เริ่มจากฉีกใบตองกว้างประมาณ 3 – 4 นิ้ว เช็ดด้วยผ้าให้สะอาดทั้งสองด้าน

1. ม้วนใบตองให้เป็นกรวย

2. ใช้กรรไกร ตัดส่วนเกินทิ้งบางส่วน เพื่อความสะดวกในการทำให้กรวยแน่น

3. ดึงใบตองด้านในสุดขึ้นเล็กน้อย

4. ใช้นิ้วสอดลงในกรวย บิด/หมุนให้ใบตองแน่น

ใบตอง/กรวยแน่นดีแล้ว ใช้ไม้กลัด/เข็มเย็บกระดาษเย็บ โดยกลัด/เย็บ บริเวณริมใบตองด้านนอกให้ต่ำกว่าขนาดความยาวของกรวยที่ต้องการเล็กน้อย

ตัดปากกรวยอีกครั้งด้วยกรรไกร ตามขนาดความยาวที่ต้องการ ปากกรวยจะตัดตรงๆ หรือตัดให้เอียงก็ได้ครับ แล้วแต่ความชอบ ถ้าทำขนมสองสีจะตัดทั้งสองแบบ เพื่อจะได้แยกสีขนมก็ได้

ประโยชน์อีกอย่างของการตัดกรวยเอียง จะหยิบขนมออกจากซึ้ง/ลังถึงได้ง่ายขณะที่ขนมยังร้อนแต่ขนมที่เสร็จแล้วอาจจะดูไม่สวยเหมือนปากกรวยตรง ก็คงแล้วแต่ความชอบ

ได้กรวยแล้วก็ดูนิดนึงครับว่ากรวยรั่วหรือไม่รั่ว จำนวนกรวยควรทำมากกว่าที่จะใช้จริงเล็กน้อย เผื่อกรวยบางอันรั่วด้วยครับ

*** ถ้ากลัวกรวยรั่ว เมื่อทำตัวขนมเสร็จแล้ว นำตัวขนมที่ได้ กวนเล็กน้อยให้แป้งพอสุก ก่อนนำไปหยอดลงในกรวย ก็ได้ครับ แต่ก็ต้องระวังตอนกวนด้วย ถ้าแป้งสุกเกินไปจะทำให้นำแป้งนั้นมาหยอดลงในกรวยยาก ***

ขนมกรวยดั้งเดิม จะไม่มีสี แต่ถ้าอยากจะให้มีสีด้วย ก็ทำได้ ใบเตยนอกจากได้สีแล้วก็เพิ่มความหอมให้ขนมด้วย

อัญชันจะได้สีอย่างเดียว แต่กลิ่นใบตองจากกรวยก็พอมี ก่อนลงมือเตรียมแป้งตัวขนม ก็เตรียมส่วนที่อยากให้เป็นสีไว้ด้วย

ตวงแป้งทั้งสามชนิดเข้าด้วยกัน เติมน้ำหรือน้ำใบเตย/อัญชัน ลงไปครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ นวดแป้งให้เป็นเนื้อเดียวกัน นวดแป้งดีแล้วเติมน้ำที่เหลือทั้งหมดลงไป พร้อมกับน้ำตาลทราย คนให้แป้งกับน้ำตาลตาลละลาย ปริมาณแป้งตัวขนมที่ได้ ประมาณ 400 ซีซี ซึ่งจะได้ขนม ประมาณ 60 กรวย แต่ก็ขึ้นอยู่กับขนาดของกรวย และการหยอดแป้งลงในกรวยด้วย

แป้งที่ได้จะตกตะกอนเร็วมาก ก่อนนำไปหยอดลงในกรวย คนให้แป้งกระจายตัวในน้ำให้ทั่ว เพื่อให้เนื้อขนมมีแป้งสม่ำเสมอ

ตวงส่วนผสมหน้าขนมกรวย 3 – 6 รวมกัน นวดแป้งด้วยหางกะทิ แล้วจึงเติมกะทิทั้งหมดลงไป

คนให้แป้งละลายและกรองด้วยกะชอน/ผ้าขาวบางก่อนนำไปใช้

เตรียมทุกอย่างพร้อม ก็นำซึ้ง/ลังถึง เติมน้ำตั้งบนเตาได้เลย ระหว่างรอน้ำเดือด นำกรวยเสียบลงในซึ้ง/ลังถึงชั้นบนไปด้วย

**เว้นไว้บางส่วนเพื่อให้ไอน้ำมีทางผ่านด้วย**

เสียบทุกช่องขนมจะไม่สุก

กรวยที่เสียบลงในซึ้ง/ลังถึง จะเสียบลงในซึ้งที่ซ้อนบนชั้นล่างแล้วซึ่งจะสะดวกกว่า และสามารถนึ่งกรวยให้ร้อนก่อนหยอดตัวขนมลงไปได้ ถ้าอยากให้คนในบ้านมีส่วนร่วม ขณะที่ต้มน้ำก็นำซึ้งส่วนบนวางบนกะละมัง ขนาดที่พอดีกับซึ้งส่วนบน เพื่อเสียบกรวย และหยอดตัวขนมไปด้วยก็ได้ แต่ควรให้หยอดตัวขนมลงกรวยเมื่อน้ำเริ่มเดือด เพราะถ้าหยอดทิ้งไว้นาน แป้งจะตกตะกอนมาก ทำให้ตัวขนมส่วนปลายแข็งกว่าส่วนอื่น

ตัวขนมนึ่งด้วยไฟแรงประมาณ 10 นาที ตัวขนมที่สุกแล้ว

ตัวขนมสุก ลดไฟลงให้อ่อนที่สุด เพื่อหยอดหน้าขนมลงในกรวย อาจจะร้อนจากไอน้ำนิดนึง หยอดหน้าแล้วนึ่งด้วยไฟกลาง ประมาณ 5 นาที ถ้านึ่งด้วยไฟแรงหน้าขนมอาจจะไม่สวย และมีโอกาสล้นออกนอกกรวย ถึงแม้จะนึ่งด้วยไฟกลางแล้วก็ตาม หากนานเกินไปหน้าขนมก็ไม่สวยได้เช่นกัน ก็คงต้องอาศัยการเปิดฝาซึ้ง/ลังถึง ดูไปด้วย

หน้าขนมที่ คิดว่าสวย

หน้าขนมที่ คิดว่า ไม่สวย

ตัวขนมและหน้าตามสัดส่วนนี้ จะลงตัวพอดีกันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการหยอดตัวขนม ถ้าหยอดตัวขนมมากไป ส่วนหน้าขนมก็จะเหลือ ถ้าไม่อยากทิ้งก็หยอดลงในกรวย แล้วนึ่งไปพร้อมกับการนึ่งครั้งที่สองก็ได้ แต่จะได้ขนม ที่ค่อนข้างเค็ม ซึ่งก็มีบางคนชอบกิน และขอให้นึ่งเฉพาะส่วนหน้าอย่างเดียว ถ้าหน้าขนมเหลือก็ลองนึ่งดู

ถ้าจะทำจำนวนมาก ระวังส่วนหน้าขนมนิดนึง เพราะมีส่วนผสมของกะทิ ถ้าผสมครั้งละมากๆ กว่าจะทำเสร็จ กะทิอาจจะไม่หอมเท่าที่ควร แก้ปัญหาด้วยการผสมครั้งละส่วนหรือสองส่วน กะทิที่เหลือเก็บแช่ตู้เย็นไว้ก่อน เมื่อจะใช้อีกจึงนำออกมาผสมหรือผสมจำนวนมากไปแล้ว เมื่อใช้เสร็จแต่ละครั้งก็นำส่วนผสมนั้น เก็บในตู้เย็นไว้ก่อน ถึงเวลาจะใช้ถึงนำออกมาใช้ แต่กรณีนี้อย่าลืมสำรวจที่ว่างในตู้เย็นก่อนก็แล้วกัน

สำหรับใครที่คิดถึงขนมกรวยของยาย ก็น่าจะพอหายคิดถึงได้บ้างนะคะ แต่คงไม่อร่อยเท่าที่ยายทำเพราะถ้ายายทำต้องมาจาแป้งสด ซึ่งโม่เอง

.

ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณสายอ้อ สมาชิกเว็บพันทิป